เมืองไทยปีนี้ ฤดูฝนมาถึงเร็ว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม และจะไปสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม ทำให้มีฝนตกชุกทั่วประเทศ และจะเกิดน้ำหลากไปจนถึงมีโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมในหลายๆพื้นที่ สภาพอากาศที่แปรเปลี่ยนนี้ เป็นเหตุให้เชื้อโรคหลายชนิดแพร่อย่างรวดเร็ว กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้พยากรณ์โรคติดต่อ และโรคไม่ติดต่อสำคัญ 7 โรค ที่คนไทยควรเฝ้าระวังในระยะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว
มาเรียนรู้ถึง สาเหตุ การป้องกัน วิธีการรักษา เพื่อเตรียมรับมือกับโรคต่างๆ เหล่านี้ กันดีกว่านะคะ
1. โรคที่มียุงเป็นพาหะนำโรค เช่น ไข้มาลาเรีย ไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเจอี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไข้เลือดออก เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส เดงกี่ (Dengue) มี ยุงลายเป็นสัตว์นำโรค ซึ่งแพร่พันธุ์ได้ดีในหน้าฝน การป้องกันและรักษา หากผู้ป่วยมีอาการไข้สูงมาก ไม่ลดลง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ให้รีบไปพบแพทย์ทันที ควรระมัดระวัง มิให้ยุงกัด ในเวลากลางวัน และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
2. โรคไข้หวัดใหญ่ รวมถึงไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เกิดจาก เชื้อไวรัส เป็นโรคที่ติดต่อง่ายและเกิดขึ้นบ่อยในคนทุกเพศ ทุกวัย พบว่า 30 %ของผู้ป่วยเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยจะมีอาการไอ รุนแรง มีไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ กระดูก อาจจะทำให้เกิดโรคหลอดลมหรือปอดอักเสบได้ ควรรีบพบแพทย์ทันที การป้องกันและรักษา มีวิธีง่ายๆ คือ ควรล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ สวมหน้ากากอนามัยเวลาไอ จาม หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่แออัดชุมชน ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น และฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
3. โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคติดต่อยอดฮิตในเด็ก พบมากในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีอัตราการระบาดสูง ในช่วงเข้าสู่ฤดูฝน โดยการได้รับเชื้อไวรัสเข้าทางปากโดยตรง จากการไอ จาม รดกัน อาการของโรค อาจมีไข้ ผื่นเป็นตุ่มน้ำใสๆ หรือเม็ดแดงๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้าหรือก้น อาการไม่รุนแรง การป้องกันและรักษา โรคนี้ไม่มีวัคซีนหรือยารักษา ส่วนใหญ่มักหายได้เองใน 7-10 วัน แต่หากผู้ป่วยได้รับเชื้อ เอนเทอโรไวรัส 71 หรืออีวี 71 (EV71) จะทำให้มีไข้สูง หายใจหอบเหนื่อย ชักเกร็ง อาเจียนมาก ความดันต่ำ ซึมเดินเซ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ การป้องกัน ควรรักษาความสะอาด สุขอนามัยส่วนบุคคล เวลาไอ จาม ควรปิดปาก หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้
4. โรคตาแดง เป็นโรคติดต่อทางตา เกิดจาก เชื้อไวรัสอะดิโนไวรัส (adenovirus) ทำให้เยื่อบุตาอักเสบ บวม เลือดออกใต้เยื่อบุตา น้ำตาไหล เคืองตา การป้องกัน และรักษา โรคนี้ติดต่อกันง่าย มีการระบาดอย่างรวดเร็ว สามารถรักษาตามอาการ ผู้ป่วยไม่ควรขยี้ตา หมั่นล้างมือให้สะอาด พยายามพักสายตา หลีกเลี่ยงไปในที่ชุมชนเพื่อป้องกันการติดต่อแพร่กระจายโรคไปสู่ผู้อื่น หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนอาการจะค่อยๆ ทุเลาลง ภายใน 10-14 วัน
5. โรคอาหารเป็นพิษ ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีสารปนเปื้อน ได้แก่ สารพิษที่แบคทีเรียสร้างไว้ในอาหาร สารเคมีต่างๆ โลหะหนัก สารหรือวัตถุมีพิษที่พบในพืชและสัตว์ ผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสียเป็น น้ำ มูก หรือมูกเลือด ปวดท้องแบบปวดบิด คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว การป้องกัน และรักษา ไม่ควรทานยาหยุดถ่ายท้อง ในขณะคลื่นไส้อาเจียน ไม่ควรทานอาหาร อาการจะรุนแรงขึ้น ควรจิบน้ำสะอาดและเกลือแร่บ่อยๆ เพื่อป้องกันภาวะการขาดน้ำ ควรพักผ่อนมากๆ
6. โรคไข้ฉี่หนู หรือโรคแลปโตสไปโรซิส เป็นโรคติดต่อ จากปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อสู่คน โดยมีสัตว์ที่เป็นรังโรคสำคัญ หลายชนิด เช่น แมว สุนัข แพะ หมู วัว ควาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนู เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เลปโตสไปร่า อินเทอโรแกนส์ (Leptospira) เข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยถลอก ขีดข่วน เยื่อบุตา จมูก ปาก ผิวหนังที่แช่น้ำ หรือการกินอาหาร น้ำดื่มที่ปนเปื้อนจากปัสสาวะหนู ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อโดยเฉพาะน่อง ตาแดง หากมีอาการสงสัยว่าเป็นโรคนี้ หลังจากลุยน้ำลุยโคลน หรือหลังจากสัมผัสสัตว์ เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ การป้องกัน ควรสวมถุงมือยาง รองเท้าบูท ล้างมือ ล้างเท้าให้สะอาดทุกครั้งหลังลุยน้ำ ควบคุมกำจัดหนู บริเวณที่อยู่อาศัย รวมทั้ง ฉีดวัคซีนป้องกันโรค แก่สัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์ (วัว ควาย)
7.โรคเมลิออยโดสิส หรือ โรคเมลิออยด์ เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรีย พบได้ในทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้ป่วยมักติดเชื้อจากการสัมผัสดินและน้ำ เป็นเวลานาน หรือผ่านทางบาดแผล หรือการดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไป ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงเป็นเวลานาน มีเนื้อตาย เป็นแผลฝีหนองที่ปอด ตับ หรือ ม้า ม พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก หากอาการรุนแรง มีภาวะแทรกซ้อน เช่นติด เชื้อในกระแสเลือด อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ การป้องกันและรักษา ผู้ที่ประกอบอาชีพสัมผัสดินและน้ำโดยเฉพาะเกษตรกร ควรสวมรองเท้าบูท และความสะอาดร่างกายทันที เมื่อจำเป็นต้องลุย หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน รวมถึงหลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำหรืออาหารสุกๆดิบๆ
อ้างอิง
ประกาศจากกรมควบคุมโรค เรื่องการป้องกันโรคและภัยสุขภาพในช่วงฤดูฝน
ผศ.นพ.เมธี ชยะกุลคีรีภา โรคที่มากับหน้าฝน
รศ.พญ.ดาราวรรณ วนะชิวนาวิน การดูแลสุขภาพขา จากสารพัน “เชื้อโรคจิ๋วในหน้าฝน”
|