Background



ข่าวประชาสัมพันธ์
การเลี้ยงไก่บ้าน
5 กุมภาพันธ์ 2562

3030


 

การเลี้ยงไก่บ้าน

ไก่พื้นเมือง เป็นไก่ที่เลี้ยงง่าย มีความต้านทานโรคสูง หากผู้ที่เลี้ยงได้ทำการศึกษาถึงอุปนิสัยและวิธีการเลี้ยงไก่พื้นเมืองให้ถ่องแท้ การเลี้ยงไก่พื้นเมืองก็จะไม่ใช่เรื่องยาก เพราะหาอาหารกินเองได้ โดยเฉพาะแมลง ไก่พื้นเมืองก็กินได้ จึงทำให้สามารถปล่อยเลี้ยงแบบธรรมชาติได้

 

 

ในเรื่องของการตลาดนั้นผู้บริโภคยังมีความต้องการ เพราะเนื้อไก่พื้นเมืองมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เมื่อนำมาประกอบอาหารมีความอร่อย แต่เมื่อเทียบจำนวนผู้เลี้ยงเพื่อจำหน่ายแล้ว ยังถือว่ามีอยู่จำนวนน้อยและตลาดยังมีความต้องการ จึงทำให้ราคาจำหน่ายของไก่พื้นเมืองมีราคาที่ดีตามไปด้วย

นางวิลาศ สามงามพุ่ม  อยู่บ้านเลขที่ 22 หมู่ที่ 1 ตำบลเคียนซา อำเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่พื้นเมืองเป็นอาชีพเสริม โดยที่การเลี้ยงไม่ได้ลงทุนอะไรมาก จึงทำให้การจำหน่ายมีกำไรและสามารถมีรายได้ใช้จ่ายภายในครัวเรือนได้เป็นอย่างดี ซึ่งไก่พื้นเมืองที่ได้นำมาเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมนั้น นางวิลาศ บอกว่า เป็นไก่ที่ญาติมาฝากเลี้ยงไว้และทางกรมปศุสัตว์ได้นำมาแจกให้กับผู้ที่สนใจอยากจะเลี้ยง จึงทำให้เขาได้มีโอกาสเลี้ยงและขยายพันธุ์มาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้

 

เลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ

 

ในเรื่องของการเลี้ยงไก่พื้นเมืองให้เจริญเติบโต นางวิลาศ บอกว่า ไม่ได้มีวิธีหรือเตรียมการอะไรที่ซับซ้อน เพียงทำโรงเรือนนอนสำหรับหลบแดดหลบฝนแบบง่ายๆ เพราะส่วนใหญ่ไก่พื้นเมืองที่เลี้ยงจะเน้นปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติ โดยที่เขาไม่ต้องไปดูแลจัดการหรือควบคุมการเลี้ยงใดๆ ทั้งสิ้น

 

“ป้าเน้นเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ จะเดินหาอะไรกินก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ โดยที่ป้าไม่ต้องไปหาอาหารอะไรให้เลย เห็นแล้วไก่ก็มีความแข็งแรงดี ไก่ก็จะไปคุ้ยเขี่ยหากินเอง และที่สำคัญเศษอาหารที่ได้จากครัวเรือนไก่พื้นเมืองก็สามารถกินได้อีกด้วย” นางวิลาศ บอก

 

 

 

ซึ่งไก่พื้นเมืองเมื่อเลี้ยงจนโตเต็มที่ ตัวเมียจะมีน้ำหนักอยู่ที่ 2 กิโลกรัมขึ้นไป ส่วนตัวผู้จะมีน้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัม โดยเมื่อทุกตัวเข้าสู่วัยผสมพันธุ์ได้ ก็จะปล่อยให้ไก่ผสมพันธุ์กันเอง ไม่ได้มีการจับคู่เหมือนกับการเลี้ยงแบบทำเป็นไก่ชนทั่วไป เพราะจะเน้นเป็นแบบจำหน่ายเป็นไก่เป็นให้กับลูกค้าที่จะมารับซื้อไปทำชำแหละเนื้อจำหน่ายเป็นไก่สดที่ตลาดหรือเอาไว้กินเอง

 

ซึ่งลูกไข่ที่ออกมาหากแม่ไก่ไม่ฟัก นางวิลาศ ทำการนำไข่ไปฟักเองโดยการให้แม่ไก่ตัวอื่นช่วยฟัก เมื่อได้ลูกไก่ออกมาจากไข่แล้ว ก็จะกกให้มีความแข็งแรงสักระยะ พอลูกไก่มีความแข็งแรงก็จะปล่อยให้ไปอยู่ในฝูงตามธรรมชาติเหมือนเช่นตัวอื่นๆ

 

คำอธิบาย: https://www.technologychaoban.com/wp-content/uploads/2017/10/Kai-2-1024x683.jpg

 

 

“การป้องกันโรคก็จะมีการทำวัคซีนให้บ้างในช่วงที่เป็นลูกไก่อยู่ พอไก่เจริญเติบโตมากขึ้นก็หมั่นดูบ้างว่ามีลักษณะอย่างไร ถ้าเหมือนจะเป็นช่วงที่มีโรคระบาด ก็จะหาซื้อยาปฏิชีวนะมาผสมกับน้ำให้ไก่กิน ก็จะช่วยป้องกันในเรื่องของโรคได้อยู่บ้าง เพราะบางทีโรคมามาก ถึงไก่จะเลี้ยงแบบนี้มีความแข็งแรงอยู่แล้ว แต่ก็ควรที่จะป้องกันไว้บ้าง ในช่วงที่เราคิดว่าน่าเป็นห่วง” นางวิลาศ บอกถึงวิธีการดูแล

คำอธิบาย: Animal/2248_1.jpg

จับจำหน่ายปีละ 2 ครั้ง

เนื่องจากการเลี้ยงไก่พื้นเมืองของนางวิลาศ เป็นแบบการเลี้ยงให้อยู่เชิงธรรมชาติ ไม่ได้เน้นให้อาหารเสริมหรืออาหารข้นที่มีจำนวนโปรตีนมากๆ ไก่อาจจะเจริญเติบโตได้ช้ากว่าปกติ แต่ในเรื่องของรสชาติ เนื้อมีความอร่อยแน่นอน ถึงกับมีแม่ค้ามาติดต่อขอซื้อเพื่อไปจำหน่ายเป็นไก่สดถึงบ้านกันเลยทีเดียว

“พอถึงเวลาทุก 6 เดือน แม่ค้าที่เขามารับซื้อประจำ เขาก็จะมาติดต่อขอซื้อถึงบ้าน เขาก็จะนำคนมาจับเอง โดยที่เราไม่ต้องไปยุ่งวุ่นวายในเรื่องของการจับ เขามาจับไปต่อครั้งก็ 50-60 กิโลกรัม ต่อครั้ง ราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท ซึ่งต่อปีก็ถือว่าเป็นอาชีพเสริมที่ทำรายได้พอสมควร จากปริมาณที่ขายได้แบบอาชีพเสริม” นางวิลาศ บอก

 

หลักการเลี้ยงดูไก่พื้นเมืองให้ปลอดโรค โดยวิธีธรรมชาติ

1. จัดเตรียมสถานที่เลี้ยงไก่ให้เหมาะสม เพราะสถานที่เลี้ยง เป็นปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงไก่ให้ประสบผลสำเร็จ ซึ่งสถานที่เลี้ยงไก่ควรมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

-เป็นที่เนิน สามารถระบายน้ำได้ดี เพราะเมื่อถึงฤดูฝนหรือช่วงฝนตกจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมขัง

-ปลูกต้นไม้ไว้ในบริเวณสถานที่เลี้ยงไก่ เพื่อกำบังแสงแดดในตอนกลางวันและตอนบ่าย เช่น กล้วย ไผ่ เป็นต้น จะช่วยให้ไก่ไม่เครียด ไก่เจริญเติบโตดี

-สถานที่เลี้ยงไก่ต้องไม่ไกลจากบ้านพักของผู้ที่เลี้ยงมากนัก เพื่อความสะดวกในการดูแลหากบริเวณใกล้เคียงกันเป็นที่นาก็จะดีมาก เนื่องจากเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ข้าวที่ตกหล่นถือเป็นอาหารชั้นดีของไก่พื้นเมือง

2. มีโรงเรือนที่สะอาด โล่ง อากาศถ่ายได้เทสะดวก และสามารถกันแดดกันฝนได้

3. ภายในบริเวณเลี้ยงไก่ ต้องมีรางน้ำสะอาดและรางอาหารให้กินอย่างเพียงพอ โดยการแยกรางน้ำและรางอาหารออกจากกัน ไม่ควรใช้รางเดียวใส่ทั้งน้ำและอาหาร

-รางน้ำและรางอาหาร ควรล้างทำความสะอาดและเปลี่ยนใหม่ทุกวัน และ ในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล ควรให้ฟ้าทะลายโจรแห้งบดละเอียดหรือต้นสดๆ โดยใส่เพียงเล็กน้อยในรางน้ำให้ไก่กินเพื่อป้องกันโรค เช่น โรคหวัด โรคอุจจาระขาว หรือจะนำฟ้าทะลายโจรตากแห้งแล้วบดให้ละเอียดผสมในอาหารไก่ อัตรา 1:100 จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันโรค ช่วยให้ไก่ไม่เครียด กินอาหารได้ดีขึ้น และเจริญเติบโตเร็ว

4. การให้อาหาร ให้ไก่ที่เลี้ยงแบบธรรมชาติกินปลวก จะทำให้ไก่แข็งแรง เจริญเติบโตเร็ว และต้านทานต่อโรคได้ดี ซึ่งการเลี้ยงปลวก มีวิธีการไม่ยุ่งยาก ดังนี้

การเลี้ยงปลวกเพื่อเป็นอาหารไก่

วิธีการ

-ขุดหลุมลึกประมาณ 10-15 ซม. ในบริเวณเลี้ยงไก่

-นำเศษไม้หรือท่อนไม้ ไปฝังไว้ตามจุดต่างๆ โดยให้ทำใต้ร่มไม้ หรือบริเวณที่ดินร่วนซุย จากนั้นกลบดินให้ท่วมท่อนไม้ ทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน จะเริ่มเกิดปลวก จากนั้นให้ดึงไม้โผล่ขึ้นจากพื้นดิน 1 ใน 3 ส่วน ไก่จะคุ้ยเขี่ย จิกกินปลวกเองตามธรรมชาติ โดยลูกไก่จะเรียนรู้วิธีหากินจากแม่ และไก่ทุกตัวจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แม้เราไม่ให้อาหารเลยไก่ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสบาย

 

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

นางวิลาศ สามงามพุ่ม บ้านเลขที่ 22 หมู่ที่ 1 ตำบลเคียนซา อำเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี